คำถามที่ได้ยินบ่อยมากจนเบื่อคือ มันต่างกันยังไง ทำไมราคามันต่างกัน ฯลฯ ที่จริงหลักการทำงานหรือวิธีที่เราจะเอาก๊าซทั้งสองชนิดไปใช้งานกับรถยนต์นั้นมีวิธีการแทบจะเรียกว่าเหมือนกันแทบทุกอย่าง ระบบที่ใช้เองก็ยังมีใช้แบบเดียวกันอย่าที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามี ระบบดูด และ ระบบหัวฉีด แต่ความแตกต่างมันอยู่ที่สภาพเนื้อแก๊ส วิธีการเก็บแก๊ส และ การลดแรงดันแก๊สก่อนใช้งาน
เริ่มจาก LPG ก่อน ปกติอย่างที่เรารู้กัน LPG มีสถานะภาพเป็นน้ำแก๊สถ้าถูกเก็บอยู่ในภาชนะปิด( แรงดันคงที่ ) ดังนั้นการนำมันมาใช้จึงต้องทำการเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นไอแก๊สเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นระบบหัวฉีด หรือ ระบบดูด ต่างจำเป็นที่จะต้องทำขั้นตอนนี้ทั้งสิ้น แต่เนื่องจากเครื่องยนต์ต้องการปริมาณแก๊สในการสันดาปค่อนข้างมาก การขยายตัวของน้ำแก๊สไม่สามารถทำได้รวดเร็วจึงมีการผลิตอุปกรณ์ที่เราเรียกว่าหม้อต้มแก๊สขึ้นมา เพื่อทำให้แก๊สเหลวกลายเป็นไอได้เร็วและมีปริมาณมากพอที่จะเอาไปใช้งานได้ ถ้าระบบเป็นเช่นนี้ถังที่ใช้จัดเก็บ LPG จึงใช้แรงดันไม่สูงมากนัก 120 160 Psi การส่งน้ำแก๊สออกมาจากถังเพียงแค่ใช้แรงกดอากาศของตัวแก๊สเองเป็นตัวดันน้ำแก๊สผ่านท่อของวาวล์จ่าย โดยที่ไม่ต้องใช้เครื่องกำเนิดแรงดัน
แล้ว LPG ตัวมันเองมีค่าการสันดาปใกล้เคียงน้ำมัน แต่จุดสันดาปยากกว่าจากค่าอ็อกเทนที่มากกว่าน้ำมันเบ็นซิน ดังนั้นการใช้งานในเครื่องยนต์จึงไม่มีผลต่อองศาการจุดระเบิดของเครื่องยนต์มากนัก( ยกเว้นเครื่องยนต์บางรุ่น ) เมื่อเป็นเช่นนี้การนำไปใช้งานกับรถยนต์จึงยังไม่เป็นปัญหามากนัก
<----------ชุดติดตั้ง LPG หัวฉีดแบบ 6 สูบ
--------------------------------->ภาพชุดติดตั้ง NGV แบบหัวฉีด 4 สูบ
ส่วน NGV ตัวก๊าซเองมีสภาพเนื้อก๊าซเป็นไอก๊าซ การจะนำไปใช้งานได้นั้นจะต้องทำให้ไอก๊าซมีความดันมากพอที่จะจ่ายเข้าเครื่องยนต์ แถมยังต้องพกพาติดตัวรถไปได้ด้วย ดังนั้นถ้าต้องการให้มีปริมาณก๊าซมากพอใช้งานเราจึงจำเป็นต้องอัดเนื้อก๊าซให้มีความหนาแน่นมากที่สุดเพื่อสามารถบรรจุลงถังได้ ก๊าซจึงถูดอัดตัวด้วยเครื่องสร้างแรงดัน แรงดันที่ถูกอัดตัวจะมีแรงดันใช้งานประมาณ 3200 Psi หรือราวๆ 220 Bar ถ้าเอาแรงดันมาเทียบกับ LPG จะมีแรงดันประมาณ 8 Bar แต่ถังก็สามารถทนแรงดันได้เพราะสร้างจากการรีดเหล็กขึ้นมาโดยไม่มีรอยเชื่อมเรียกว่าถัง Type 1 แต่ถังเหล็กเหมือนจะเป็นปัญหาเนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากจึงมีการพัฒนาวัสดุขึ้นมาเพื่อทำการห่อถังเหล็กเพื่อจุดประสงค์ในการลดความหนาของเหล็กลงถังแบบนี้เรียกว่า Type 2 แต่เนื่องจากการพัฒนาของวัสดุมีอยู่อย่างต่อเนื่องจึงมีการคิดค้นผลิตถังอีก 2 ชนิด โดยใช้อลูมิเนียมมาแทนการใช้เหล็กที่เกิดสนิมได้จากไอน้ำที่แฝงอยู่ในเนื้อก๊าซ และมีการใช้เส้นใยจำพวก Carbon Fiber มาทำการหุ้มถังทั้งใบให้สามารถรับแรงดันได้ ถังชนิดนี้เรียกว่า Type 3 ส่วนถังจำพวกสุดท้ายที่เรียกว่า Type 4 แทบจะเรียกได้ว่าเป็นถังที่มีน้ำหนักเบามากที่สุดประกอบด้วยเส้นใยสังเคราะห์ต่างๆถูกซ้อนเป็นชั้นๆ ใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติสูงมากและราคาก็สูงตามไปด้วย ในถังขนาด 70 ลิตรถ้าเป็น Type 4 บางลูกราคามากกว่า 50000 บาท
<--------------ภาพชุดติดตั้ง NGV ระบบดูด (Mixer)
หลังจากเราพอรู้วิธีที่จะเอาก๊าซอัดตัวเข้าไปอยู่ในถังแล้ว ทีนี้เราจะเอาแรงดัน 220 Bar ออกมาใช้งานได้ยังไง ถ้าเอาอุปกรณ์ LPG มาใช้แค่เติมก๊าซเข้าไปถังคงแตกเป็นลูกโป่ง ท่อแก๊สคงขาดตั้งแต่เปิดวาวล์ ปกติท่อนำก๊าซของ NGV จะใช้ท่ออยู่ 2 แบบ คือท่อเหล็ก กับ ท่อ สแตนเลส ท่อพวกนี้ทนแรงดันได้ดีกว่าถัง แรงดันใช้งานในท่ออยู่ที่ 4500 Psi หรือ 310 Bar หลังจากที่ก๊าซแรงดันสูงถูกส่งผ่านท่อ ก่อนที่จะเข้าหม้อต้ม ทางเทคนิคในระบบ NGV จะเรียกว่า หม้อลดแรงดัน จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ส่วนลดแรงดันสูงมีหน้าทีลดแรงดัน 220 Bar ให้เหลือแรงดัน 8 10 Bar
- ส่วนลดแรงดันต่ำ มีหน้าที่ลดแรงดันจาก 8 10 Bar ให้เหลือ 2 3 Bar ก่อนที่จะจ่ายให้เครื่องยนต์ ทีนี้ความสงสัยอันต่อมา แล้วมันก็เป็นก๊าซอยู่แล้ว ทำไมต้องใช้น้ำร้อนของเครื่องยนต์เข้าไปทำให้มันร้อนด้วย ทั้งๆที่มันไม่ใช่น้ำแก๊ส ตอบง่ายมากถ้าเราเคยพ่นสีกระป๋องสังเกตุหรือปล่าวว่าถ้าเราพ่นสีออกจากกระป๋อง ตัวกระป๋องมันจะเย็น นั่นแค่แรงดันไม่กี่ Psi ถ้าเราลดแรงดันมากๆโดยไม่มีระบบน้ำร้อนเข้าไปอุ่น ชุดลดแรงดันสูงจะอุดตันจากรูเล็กๆภายในที่จะมีการจับตัวเป็นน้ำแข็งจะทำให้ระบบตีบตันจนไม่สามารถจ่ายแก็สได้ อันนี้จึงเป็นการใช้ความร้อนของระบบที่แตกต่างกันระหว่าง LPG และ NGV
ความแตกต่างต่อมา คือแรงดันขณะจ่ายเข้าเครื่องยนต์ NGV จะต้องใช้แรงดันที่สูงกว่าเพื่อต้องการปริมาณก๊าซที่สันดาปมากกว่าเนื่องจากเป็นก๊าซเบาและมีฐานพลังงานที่ต่ำ ส่วน LPG จะใช้งานได้ตั้งแต่ 0.7 2 Bar ก็สามารถมีคุณสมบัติที่ดีได้

สรุปแบบห้วนๆ ระหว่าง LPG กับ NGV
1. ถ้าต้องการกำลังเครื่องยนต์ LPG ได้เปรียบ
2. ถ้าต้องการความประหยัด NGV ได้เปรียบ เบาะๆค่าใช้จ่ายต่างน้ำมัน 70%
3. ถ้าต้องการการบริการที่ดี NGV ได้เปรียบ
4. สถานที่บริการก๊าซ LPG ได้เปรียบ เพราะเยอะกว่า
5. การดัดแปลงเครื่องยนต์ LPG ทำน้อยกว่าทำง่ายกว่า
6. ความเสื่อมเครื่องยนต์ถ้าอยู่ในเงื่อนไขเดียวกัน LPG ดีกว่า
7. การดูแลรักษาระยะยาว พอๆกันไม่ห่างกันมาก
8. ระยะยาวๆ NGV จะได้เปรียบด้านราคาเพราะรัฐฯสนับสนุน
9. ระยะทางในการเดินทาง/แก๊ส 1 ถัง LPG กินขาด
10. ความคุ้มค่า ถ้าไม่มีการสนับสนุนเรื่องราคาค่าติดตั้ง คิดที่ฐานเดียวกันหมด LPG ก็ได้เปรียบ
11. อุปกรณ์เสริมในการใช้งาน มีมากพอกันไม่แตกต่าง แต่ตัวหน่วงเวลาจุดระเบิดสำหรับ NGV รถบางรุ่นไม่สามารถใช้ได้ เจ้าของรถต้องตรวจสอบก่อน
ที่จริงข้อปลีกย่อยมีเยอะแต่เอามาคิดเฉพาะหลักๆ แต่ถ้าต้องการใช้งานในรถยนต์ ผู้ตัดสินใจจะอยู่ที่เจ้าของรถเป็นหลัก
หมายเหตุ : ค่าแรงดันก๊าซ
LPG ขณะอยู่ในถังมีสถานะเป็นของเหลว มีค่าแรงดัน 100-130 PSI ( ปอล์นต่อตารางนิ้ว) หรือ 4-6 BAR
NGV ขณะอยู่ในถังมีสถานะเป็นก๊าซ มีค่าแรงดัดประมาณ 2200-2800 PSI หากเติมเต็มๆจะถึง 3000 PSI หรือ 200 BAR
GasThai.com ขอขอบคุณ
บทความโดย คุณ Sor : sor@gasthai.com
|