ระบบฉีด กับความเหมือนที่แตกต่าง (ภาค 1) โดยคุณ Sor
 (30/8/2549)

จากที่เคยกล่าวถึงระบบแก๊สที่มีใช้ในรถยนต์ ในระบบฉีดที่เคยกล่าวถึงจะมีอุปกรณ์ 2 อย่างทีมีการทำงานแตกต่างกัน แต่ผลลัพธ์ที่ได้จะเหมือนกัน ซึ่งการเลือกใช้ชนิดอุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้เป็นผลพวงมาจากการออกแบบระบบควบคุม แต่อย่างไรก็ตามอาจมีการใช้งานร่วมกันได้เป็นปกติ จะกล่าวถึงความแตกต่างทีละส่วนโดยจะเริ่มจาก หัวฉีดแก๊ส ( Injector Gas )

ดังที่เคยกล่าวถึงหัวฉีด 2 อย่าง คือ
1. หัวฉีดแบบลูกเลื่อน
2. หัวฉีดแบบลิ้น

ภาคแรก กับหัวฉีดแบบลูกเลื่อน การทำงานแทบจะเรียกได้ว่ามันคือ Solinoide Valve ก็ว่าได้ แต่มันแตกต่างที่ความต้านทานของขดลวดแม่เหล็ก ( ใช้ดูดแกนลูกเลื่อน ) ความต้านทานของขดลวดแม่เหล็กถ้าเป็นของ Solinoide Valve ในระบบแก๊สจะมีความต้านทานอยู่ที่ 12 – 15 Ohm แต่ของหัวฉีดแก๊ส จะใช้อยู่ 3 แบบ คือ
- 1.2 Ohm (Kehin กับ Bosch บางรุ่น)
- 3.0 – 3.5 Ohm (ใช้แบบนี้มากที่สุด)
- 5.5 Ohm จะเป็นระบบหัวฉีดที่ใช้ลิ้นควบคุม


รูปแบบรางหัวฉีดแบบลูกเลื่อน

ดังนั้นความต้านทานต่ำๆแบบนี้หมายความว่าการกินกระแสของหัวฉีดก็สูงมากด้วย ตามสมการทางไฟฟ้าที่ว่าด้วย E= I/R หรือกฎสามเหลี่ยม(แบบที่เรียนตอน ม.ต้น) ถ้าคำนวนหากระแสจะได้สมการ I= E/R เมื่อมีการใช้กระแสสูงการฉีดแก๊สจึงถูกกำหนดด้วยค่าเวลาการฉีด (Time Sequential) ถ้าปล่อยให้หัวฉีดดูดเต็มที่แบบ Solinoide Valve ไม่เกิน 3 นาที ขดลวดไหม้


บ่าวาวล์ภายในเสื้อของหัวฉีดแบบลูกเลื่อน ทำเป็นขอบขึ้นมารับกับหน้าสัมผัส

แต่ตัวหัวฉีดแบบลูกเลื่อนถูกออกแบบมาคล้ายๆ Solinoide Valve ดังนั้นตัวลูกเลื่อนจึงมีน้ำหนักค่อนข้างจะมากการปิดแก๊สด้วยลูกเลื่อนจึงค่อนข้างสนิทมาก และมีการออกแบบหน้าลิ้น 2 แบบ คือจะใช้หน้าลิ้นเป็นยางไวตัน หรือวัสดุสังเคราะห์ ส่วนอีกแบบจะออกแบบให้เป็นบ่าเทเปอร์ เช่นเดียวกับหน้าวาวล์ของเครื่องยนต์


ลูกเลื่อนประกอบเป็นชุดอยู่บนรางหัวฉีด

ส่วนหลักการทำงานล้วนเหมือนกันแทบทั้งหมด ลูกเลื่อนจะถูกกดปิดด้วยแรงสปริงด้านท้ายลูกเลื่อน และถูกสั่งเปิดด้วยแรงดูดของแม่เหล็กที่ขดลวดสร้างขึ้น หัวฉีดแบบลูกเลื่อนมีข้อเสียที่น้ำหนักของลูกเลื่อนที่ค่อนข้างมาก และยังถูกกดด้วยแรงสปริงการเปิดจึงต้องใช้เวลามากตามไปด้วย แต่สิ่งทีได้ตามมาคือแก๊สรั้วออกจากหัวฉีดยาก อาการฉีดเกินไม่ค่อยมี ความแม่นยำสูง แต่การใช้งานหัวฉีดแบบนี้ไม่สามารถที่จะปรับค่าการฉีดแก๊สให้ต่ำถึง 2 ms ได้อันเป็นผลมาจากน้ำหนักของลูกเลื่อนนั่นเอง ดังนั้นการออกแบบหัวฉีดแบบนี้จึงมีการออกแบบมาในลักษณะการฉีดแบบแนวนอน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากน้ำหนักของลูกเลื่อนให้เคลื่อนที่ตามแนวนอนเพื่อลดแรง G ที่เกิดขึ้นกับลูกเลื่อน แต่มันก็ยังใช้ไม่ดีกับรถยนต์ที่มีค่าการฉีดน้ำมันต่ำๆ ถึงตรงนี้อย่าเพิ่งสงสัย ว่าทำไม ในเมื่อระบบฉีดน้ำมันกับแก๊สมันถูกแยกส่วนกันจะเอาค่าการฉีดน้ำมันเดิมมาอ้างอิงทำไม


ลูกเลื่อนแยกตัวออกมาได้ แบบตัวใครตัวมัน

การที่เราจะให้เครื่องยนต์สามารถใช้แก๊สได้ดีที่สุดนั้น ค่าการฉีดแก๊สจะต้องห่างกับค่าการฉีดน้ำมันน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะว่าเราต้องการให้มันฉีดแก๊สได้เหมือนน้ำมันที่สุดโดยที่ค่าฐานเดิมของการฉีดน้ำมันต้องใกล้เคียงกับตอนเป็นน้ำมันด้วย ถึงตอนนี้ก็พอเข้าใจได้ว่า รถที่มีค่าการฉีดสั้นๆการฉีดแก๊สจึงต้องสั้นตามไปด้วย ถ้ายังใช้หัวฉีดแบบลูกเลื่อนอยู่จะมีผลทำให้ระบบแก๊สสนองเครื่องยนต์ไม่ทันนั่นเอง แต่ในระบบแก๊สแบบหัวฉีดที่มีขายในต่างประเทศหลายๆบริษัท ออกแบบให้ระบบสามารถใช้ได้ทั้งหัวฉีดแบบลูกเลื่อนและแบบลิ้น เพื่อเพิ่มขอบเขตของการใช้งานให้มากขึ้นตามไปด้วย แต่ก็ใช่ว่าหัวฉีดลูกเลื่อนจะไม่สามารถใช้งานได้เมื่อมีการฉีดระดับ 2 ms มีการแก้ไขได้โดยการเพิ่มขนาด Tip Nozzel ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มปริมาณการฉีด ก็พอสามารถใช้งานได้พอประมาณ


รางหัวฉีดแบบลิ้น

ภาคสอง กับหัวฉีดแบบลิ้น หัวฉีดแบบนี้ไม่เหมือน Solinoide Valve ไม่เหมือนกับอะไรที่เคยเห็นดูเหมือนง่ายๆ แต่ซับซ้อนกว่าหัวฉีดแบบลูกเลื่อนเยอะ การทำงานจะถูกควบคุมการเปิดด้วยขดลวดแม่เหล็กเช่นเดียวกัน แต่การปิดจะถูกแผ่นโลหะสปริงที่มีความบางมากเป็นตัวบังคับให้หน้าลิ้นปิดแต่การปิดโดยแผ่นสปริงตัวเดียวอาจทำให้แก๊สรั่วออกจากหน้าลิ้นได้ง่าย ดังนั้นจึงมีการออกแบบจะให้ห้องพักแก๊สอยู่ด้านหลังลิ้นเพื่อให้แรงดันของไอแก๊สเป็นตัวกดหน้าสัมผัสของลิ้นให้แน่นขึ้นป้องกันการรั่วได้ดีขึ้น


เปิดฝาหน้าของราง

แต่อย่างไรก็ดีการใช้ระบบลิ้นระยะยกของหน้าสัมผัสจะต่ำกว่าระยะยกของลูกเลื่อนมาก จึงเป็นผลทำให้มีปริมาณการฉีดน้อยเกินไป ถ้าจะออกแบบโดยการเพิ่มขนาดของลิ้นก็จะมีปัญหาตามมาด้วยเรื่องของน้ำหนักลิ้นอีก การแก้ปัญหาทางสุดท้ายคือการเพิ่มปริมาณ Port ที่ใช้จ่ายแก๊สให้กลายเป็น 2 Port ทำงานพร้อมกัน เท่ากับว่าถ้าเรานำไปใช้กับเครื่องยนต์ 4 สูบ หัวฉีดต้องมี 8 ลิ้น 8 Port จึงสามารถแก้ปัญหาปริมาณการฉีดได้


2 PORT ทำให้ปริมาณการฉีดแก็สมากเพียงพอ

เนื่องจากน้ำหนักของลิ้น ปิด – เปิด ที่ค่อนข้างเบา( เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ) ดังนั้นการที่จะนำไปใช้กับเครื่องยนต์ที่มีค่าเวลาการฉีดเชื้อเพลิงต่ำระดับ 2 ms จึงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป แต่หัวฉีดแบบลิ้นเองก็พอมีข้อเสียอยู่บ้าง เนื่องจากน้ำหนักที่เบาการพึ่งพาแผ่นสปริงที่ใช้กดหน้าลิ้นจะมีความสำคัญมาก ถ้ามีปัญหากับแผ่นสปริง อาจสกปรกหรือเสียรูปจากอายุการใช้งาน


แผ่นโลหะบังคับลิ้น แปะอยู่บนขดลวดแม่เหล็ก เป็นตัวกดให้ลิ้นปิด

การ ปิด – เปิดลิ้นอาจผิดพลาดได้ง่าย ดังนั้นหัวฉีดแบบนี้ต้องหมั่นดูแลและทำความสะอาดตามอายุงานถึงจะอยู่ทนทาน


แผ่นโลหะเมื่อแยกส่วนออกมา


ความบางของแผ่นบังคับลิ้น หนาไม่ถึงครึ่งหนึ่งของกระดาษสมุด


ขดลวดแม่เหล็กควบคุมการเปิดของลิ้น 1 Port ใช้ 2 Coil เปิดพร้อมกัน 8 Coil ทำงานแบบ Sequential

ส่วนข้อเสียอีกข้อคือ การออกแบบส่วนใหญ่ประกอบขดลวดแม่เหล็กอยู่ในเสื้อตัวเดียวกันถ้าชำรุดแค่ 1 ขด ก็จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนทั้งราง ทำให้ค่าใช้จ่ายสูงเมื่อชำรุด ไม่เหมือนกับแบบลูกเลื่อนซึ่งบางรุ่นสามารถเปลี่ยนทีละชุดได้


ลิ้นปิด + เปิด แปะอยู่ใต้ Port คอยการสั่งงานจากขดลวดแม่เหล็ก ยางสีดำอยู่ปลายลิ้นทำหน้าที่ปิดหน้าลิ้น ปกติมี 2 ด้านชำรุดห้าแรกสามารถสลับมาใช้อีกหน้าได้


แผ่นบังคับจะกดลิ้นในตำแหน่งนี้


ขนาดลิ้นเมื่อเทียบกับประแจหกเหลี่ยมขนาด 2.5 มม.

GasThai.Com ขอขอบคุณข้อมูล บทความ
โดยคุณ Sor : sor@gasthai.com



หน้าแรก || สมัครสมาชิก || LOGIN || LOGOUT || เปลี่ยนไอคอนส่วนตัว || โปรแกรมย่อรูปภาพ || เกี่ยวกับลิขสิทธิ์บทความภาพถ่าย || ข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้เว็บ || เกี่ยวกับเรา || ติดต่อโฆษณา
แจ้งปัญหาการใช้งาน website GasThai.Com หรือขอความรู้และขอคำปรึกษารถยนต์ติดแก๊ส LPG/NGV ติดต่อ :::>>>Email::: webmaster@GasThai.Com   หรือ   ติดต่อเรา(Contact Us)
Copy Right © Gasthai.com December 2005   Counter View Stats Truehits.Net