ชนินทร์ พงษ์เสือ
บนกระแสความเปลี่ยนแปลงของพลังงานสำหรับรถยนต์ ที่หลายคนสุดทนกับการแบกรับภาระค่าน้ำมันเบนซิน หันมาคบกับพลังงานทางเลือกอย่างก๊าซแอลพีจีกันเป็นทิวแถวนั้น ส่งผลให้ ณ วันนี้ มีศูนย์บริการติดตั้งระบบแอลพีจีเกิดขึ้นใหม่เป็นดอกเห็ด แต่ก็ยังไม่สามารถรองรับความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ได้อย่างเพียงพอ เชื่อหรือไม่ว่าศูนย์บริการระดับกลางๆ ที่มีชื่อเสียงนั้น คิวรอติดตั้งระบบแอลพีจีให้กับรถยนต์ บางแห่งต้องรอนานถึง 2 เดือนเลยทีเดียว หรือแบบมีทั้งชื่อเสียและชื่อเสียงรวมกันก็ยังมีคนเสี่ยงรอคิวนานร่วมเดือน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนเห็นเป็นโอกาสอันดี หันมาเปิดศูนย์บริการแบบนี้มากขึ้นทุกวัน แน่นอนว่าปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกวันเหล่านี้ ทำให้มีคำถามตามมาว่ามีการควบคุมมาตรฐานคุณภาพทั้งการเลือกใช้อุปกรณ์และเทคนิคการติดตั้งเพียงพอแค่ไหน?
ทุกวันนี้ผมได้รับคำถามจากเพื่อนๆ คนรู้จักมากมายเกี่ยวกับปัญหาหลังจากติดตั้งระบบเชื้อเพลิงก๊าซแอลพีจีไปแล้ว เมื่อตรวจสอบหาสาเหตุจึงพบว่าส่วนมากมักเกิดจากการขาดความละเอียดรอบคอบในการติดตั้ง รวมถึงการเร่งทำปริมาณให้ได้จำนวนมาก เพื่อกอบโกยเงินทองมากกว่าจะสนใจกับคุณภาพงานและความปลอดภัยของลูกค้า
ผมเคยเข้าไปพูดคุยกับศูนย์ติดตั้งระบบแอลพีจีบางแห่ง เพื่อให้ช่วยแก้ไขตามจุดที่ผิดพลาดของรถเพื่อนๆ ที่เข้าไปติดตั้ง จึงพบว่าหลายแห่งยังขาดความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอที่จะให้บริการ ทั้งในเรื่องระบบการทำงานของอุปกรณ์ชนิดต่างๆ ขั้นตอนการติดตั้ง ขณะเดียวกันผู้บริโภคหรือเจ้าของรถเองก็ไม่มีความรู้เพียงพอจะไปตรวจสอบคุณภาพที่ออกมาได้ จึงจำต้องเป็นผู้รับเคราะห์ไปอย่างไม่รู้ตัว

* ปัญหาที่พบเจอมีตั้งแต่ต่อท่อต่างๆ ไม่แน่นเพียงพอ มีการรั่วซึม ใช้อุปกรณ์ไม่ครบทำให้รถมีปัญหา การติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ เช่นหม้อต้มก๊าซในตำแหน่งไม่ถูกต้องเสี่ยงต่อการติดไฟหากมีการรั่วซึม ไม่มีการแนะนำการใช้งานและการดูแลรักษาเบื้องต้นอย่างถูกวิธี หรือจะให้ดีผมว่าอย่างน้อยควรมีเอกสารคู่มือการใช้งานและตรวจเช็คระบบเบื้องต้นให้กับลูกค้าก็น่าจะพอใช้ได้
* อีกกรณีที่เพิ่งพบในไม่กี่วันที่ผ่านมา และแทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นศูนย์ติดตั้งที่ทำมานานนับสิบยี่สิบปีแล้วก็คือ การติดตั้งหรือเดินท่อส่งก๊าซจากถังบรรจุด้านท้ายรถมายังหม้อต้มก๊าซในห้องเครื่อง ปรากฏว่าแทนที่จะพิจารณาให้ดีว่าตำแหน่งของท่อควรจะเดินไปในแนวไหน โดยเฉพาะต้องระวังเรื่องชิ้นส่วนที่เคลื่อนได้เช่นระบบช่วงล่าง แต่ปรากฏว่าบังเอิญรถคันนั้นเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนเล็กน้อยต้องถอดกันชนออกมาทำสี จึงยกรถขึ้นด้วยลิฟต์ยกรถเพื่อความสะดวกในการทำงาน จึงพบว่าล้อรถไม่ห้อยลงเท่าที่ควรจึงมุดเข้าดูปรากฏว่าชิ้นส่วนของช่วงล่างถูกรั้งด้วยท่อทองแดงส่งก๊าซ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากในอนาคตจะเกิดเรื่องเศร้าขึ้นกับรถคันนี้ได้ หากยังมิได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แถมการติดตั้งท่อเข้ากับชุดกรองก๊าซก่อนเข้าหม้อต้มก็ตึงเกินไปไม่มีระยะเผื่อการให้ตัวสำหรับการสั่นสะเทือน ซึ่งจุดนี้จะให้ดีควรมีการดัดท่อส่งก๊าซม้วนเป็นวงกลมเผื่อระยะการให้ตัวไว้ด้วย
*ไหนๆ ก็ลงมือแล้วคราวนี้เลยถอดท่ออากาศเปิดดูกรวยมิกเซอร์ ปรากฏว่าขนาดเล็กเกินกว่าจะใช้สำหรับเครื่องยนต์ขนาด 2,500 ซีซี ใช้เวอร์เนียวัดดูปรากฏว่าเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 26 มิลลิเมตร จากขนาดของท่อส่งอากาศเดิมที่กว้างราว 70 มิลลิเมตร ซึ่งมิกเซอร์ขนาดนี้ถือเล็กเกินกว่าจะใช้กับเครื่องยนต์ระดับนี้ เพราะค่าเฉลี่ยสำหรับมิกเซอร์นั้นประมาณคร่าวๆ ควรอยู่ในระดับ 70-75% จากของเดิม ดังนั้นในภาวะที่ต้องกลับมาใช้น้ำมัน ทำให้การที่มีอากาศเข้าน้อยเกินไปไม่เพียงพอกับการผสมกับเชื้อเพลิง จึงส่งผลทำให้เครื่องยนต์กินน้ำมันเนื่องจากเผาไหม้ไม่หมด ควันดำ และวิ่งไม่ออก

* เจ้าของรถยังบอกอีกว่าแม้จะใช้แก๊สแอลพีจีแล้ว แต่ปรากฏว่าน้ำมันในถังก็ยังหายไปอีก เลยเช็คดูปรากฏว่าปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงหรือปั๊มติ๊กยังทำงานอยู่ แต่ท่อส่งน้ำมันถูกบล็อกไว้ด้วยวาล์วไฟฟ้า ซึ่งเมื่อพบกับแรงดันจากปั๊มน้ำเชื้อเพลิงในระดับ 30-45 ปอนด์/ตารางนิ้ว จึงมีโอกาสรั่วมายังระบบได้ ทำให้เป็นสาเหตุที่น้ำมันค่อยๆ หายไปถังทีละนิด ขณะเดียวกันหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังทำงานอยู่โดยไม่มีน้ำมันเชื้อเพลิงมาเลี้ยง เพราะช่างที่ติดตั้งไม่ได้ทำการยกเลิกระบบของ 2 ส่วนนี้ขณะใช้ระบบก๊าซแอลพีจี ในอนาคตจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะพบว่าชุดหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นชิ้นส่วนราคาแพงและพังยากของรถคันนี้ จะต้องกลับบ้านเก่าในเวลาอีกไม่นาน
*อีกปัญหาที่พบคือรถหลายคันที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง มักจะปล่อยให้มีน้ำมันติดถังเพียงเล็กน้อย ขณะที่ปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงต้องการน้ำมันหล่อเลี้ยงตลอดเวลาเพื่อระบายความร้อน ทำให้อีกไม่นานปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงก็ถึงเวลาต้องกลับบ้านเก่าก่อนเวลาอันควรอีกเช่นกัน ดังนั้นจึงควรเติมน้ำมันอย่างน้อยก็มากกว่าครึ่งถังไว้ดีกว่า
*อีกปัญหาที่พบคือหลายท่านเกรงกลัวราคาน้ำมัน จนไม่ยอมกลับมาใช้น้ำมันอีกเลย เรียกว่าใช้ก๊าซแอลพีจีกันตั้งแต่สตาร์ทเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อถึงเวลาจำเป็นต้องกลับมาใช้น้ำมันในบางโอกาสอีก ปรากฏว่าเกิดน้ำมันรั่วขึ้นตามข้อต่อต่างๆ ซึ่งมีซีลยางอยู่ข้างใน สาเหตุนี้เกิดจากการไม่มีน้ำมันมาหล่อเลี้ยงและช่วยระบายความร้อนในระบบ เมื่อท่อน้ำมันว่างเปล่าผสมกับความร้อนในห้องเครื่องซีลยางหลายตัวจึงหมดอายุ หดตัวหรือแตกหักทำให้น้ำมันรั่วออกมาได้

*โชคดีได้กลิ่นก่อนแล้วดับเครื่องทันก็แล้วไป โชคไม่ดีก็แย่หน่อย แล้วแต่ดวงว่าใครทำบุญมามากแค่ไหน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป โดยเฉพาะหากบริเวณที่รั่วซึมอยู่ใกล้ท่อไอเสีย การป้องกันทำได้ไม่ยากแค่หาโอกาสให้เครื่องยนต์ได้มีโอกาสใช้น้ำมันบ้าง เพื่อหล่อเลี้ยงในระบบอย่างน้อยสัก 3-4 วัน ใช้น้ำมันสัก10-30 นาทีก็ยังดี แต่สำหรับผมจะสตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยน้ำมันทุกเช้าเมื่ออุณหภูมิได้ที่ประมาณ 50-70 องศา จึงเปลี่ยนมาใช้ก๊าซ
*สิ่งที่ผมพบอีกอย่างก็คือ ในการเจาะตัวถังรถเพื่อร้อยท่อต่างๆ และร้อยนอตยึดถังบรรจุก๊าซนั้น ศูนย์ติดตั้งหลายแห่งมักละเลยการป้องกันสนิมสำหรับรอยเจาะที่เกิดขึ้นใหม่ จะให้ดีทุกวันนี้ เคมีและสีกันสนิมมีให้เลือกใช้มากมาย ราคาไม่แพงครับ ก่อนร้อยท่อบางแห่งมีรายละเอียดดีหน่อยก็มีการใช้ซีลยางกันน้ำและป้องกันรอยเจาะทำความเสียหายให้ท่อ แต่บางแห่งก็ร้อยลงไปเลย คราวนี้ก็คิดเอาเองนะครับว่าขอบเหล็กคมๆ กับท่อยางและท่อทองแดงใครจะไปก่อนกัน
*พื้นที่ใกล้หมดแล้วครับ... เอาวิธีตรวจเช็คง่ายๆ มาฝาก วันหยุดวันไหนมีเวลาก็ลองเปิดฝากระโปรงรถแล้วสตาร์ทเครื่องด้วยน้ำมัน ปล่อยให้เครื่องยนต์ทำงานสักพักแล้วตรวจเช็คระบบท่อส่งน้ำมันและรางหัวฉีดดูว่ามีร่องรอยการรั่วซึม มีกลิ่นน้ำมันออกมาบ้างหรือเปล่า จากนั้นจึงเปลี่ยนเข้าระบบก๊าซแล้วใช้น้ำผสมกับสบู่หรือแชมพูตีให้เป็นฟองแล้วใช้ฟองน้ำชิ้นเล็กๆ ซับน้ำสบู่ขึ้นมาแล้วป้ายลงไปบริเวณรอยต่อส่วนต่างๆ ของท่อแก๊สหากเกิดฟองอากาศขึ้นบริเวณใดก็แสดงว่ามีการรั่วซึมในระบบครับ
เสียเวลาไม่นานจะได้แก้ไขกันทันเวลา...

GasThai.Com ขอขอบคุณ
บทความ..........โดยคุณชนินทร์ พงษ์เสือ(Bruno JUC #107)
ผู้ส่งบทความ.....คุณโต้ง ตองเหลือง
|